สินเชื่อเพื่อการศึกษา ธ.ก.ส. – การศึกษาถือว่าเป็นพื้นฐานสำคัญที่ทุกคนจะต้องเรียนมาตั้งแต่เด็กจนโต เริ่มตั้งแต่ชั้นอนุบาล ประถม มัธยม และต่อด้วยปริญญาตรี ซึ่งทุกคนก็ล้วนให้ความสำคัญกับทางศึกษามากขึ้น และยิ่งในปัจจุบันจะสังเกตได้เลยว่า เด็กไทยหลายคนที่จะต้องเรียนพิเศษเพิ่มเติมอย่างหนัก ก็เพื่อสอบแข่งขันให้เข้าโรงเรียนที่ดีที่สุดที่พ่อแม่เลือกไว้ให้ แต่ในขณะเดียวกันไม่ใช่ว่าทุกคนจะโชคดีได้เรียนอย่างที่ต้องการ เพราะอย่างที่เรารู้กันดีกว่าคนส่วนใหญ่มักจะยากจน ไม่ค่อยมีเงินส่งลูกหลานให้เรียนสูงๆ เหมือนอย่างใครเขา เพราะยิ่งเรียนสูงเท่าไร ค่าใช้จ่ายก็เพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย แม้ว่าโอกาสมีให้กับทุกคน แต่ทุกคนมักจะได้โอกาสที่ไม่เท่ากัน ซึ่งอีกหนึ่งปัจจัยที่มีความสำคัญและเป็นตัวกำหนดเลยว่าจะได้เรียนต่อหรือไม่ก็คือ เงิน นั่นเอง แต่ในขณะเดียวกันก็ยังมีบางสถาบันการศึกษาที่มีทุนสำหรับคนเรียนเก่งหรือคนยากจน แต่ก็ใช่ว่าทุกคนจะได้รับทุนนั้น ซึ่งวันนี้เรามีสินเชื่อเพื่อการศึกษา จากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) มาฝากสำหรับใครที่อยากเรียนต่อแต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ จะมีเงื่อนไขอะไรและสามารถตอบโจทย์ให้กับใครได้บ้าง มาดูกันค่ะ
สินเชื่อเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตเพื่อการศึกษา
สินเชื่อเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตเพื่อการศึกษา เป็นสินเชื่อส่วนบุคคลที่เปิดโอกาสให้กลุ่มคนที่อยากเรียนต่อแต่ไม่มีทุนทรัพย์ และสินเชื่อนี้จะกู้เงินเพื่อนำไปเป็นค่าเล่าเรียนได้ตั้งแต่ชั้นอนุบาลไปจนถึงระดับปริญญาเอกเลย แต่จะต้องเรียนภายในประเทศ ทุกสถาบัน ทุกหลักสูตร โดยจะพิจารณาวงเงินไปตามหลักทรัพย์ที่นำมาค้ำประกัน และผู้ที่จะมาขอกู้สินเชื่อเพื่อการศึกษาของธนาคารนั้น จะต้องไม่เคยขอกู้กับสถาบันการเงินที่ไหนมาก่อนไม่ว่าจะเป็นของรัฐหรือของเอกชน โดยวงเงินที่ได้รับอนุมัติจะให้ตามจริงที่ทางสถาบันการศึกษาเรียกเก็บจริง และอาจจะยังได้วงเงินเพิ่มเพื่อไว้เป็นค่าครองชีพ หรือสิ่งที่จำเป็นที่จะต้องใช้ที่เกี่ยวกับการเรียน งั้นเรามาดูรายละเอียดกันค่ะ
วัตถุประสงค์ในการกู้สินเชื่อเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตเพื่อการศึกษา
- โดยธนาคารจะกำหนดวัตถุประสงค์ในการปล่อยกู้เพื่อใช้เป็นค่าใช้จ่ายสำหรับการศึกษาได้ทั้งของตนเองและบุคคลในครอบครัว ตั้งแต่ระดับอนุบาลไปจนถึงปริญญาเอก และจะต้องเป็นการศึกษาภายในประเทศเท่านั้น ไม่จำกัดว่าจะเป็นสถาบันการศึกษาของรัฐหรือภาคเอกชน
วงเงินในการอนุมัติสินเชื่อเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตเพื่อการศึกษา
- การปล่อยวงเงินกู้นั้น ธนาคารจะประเมินจากหลักประกันที่นำมาค้ำประกัน ได้แก่
- กรณีที่ใช้เป็นอสังหาริมทรัพย์ เช่น ที่ดินเปล่า/บ้านพร้อมที่ดิน/คอนโดมิเนียม เป็นต้น >>> วงเงินที่จะได้รับจะให้สูงสุดไม่เกินร้อยละ 50 ของราคาหลักทรัพย์
- กรณีที่เลือกให้บุคคลมาค้ำประกัน >>> ธนาคารจะพิจารณาจากรายได้ของผู้ค้ำ แต่วงเงินสูงสุดในการอนุมัติไม่เกิน 200,000 บาท
- กรณีที่เลือกใช้เป็นเงินฝากค้ำ/สลากออมทรัพย์/พันธบัตรรัฐบาล >>> ธนาคารจะพิจารณาเป็นรายบุคคล ซึ่งจะต้องเข้าไปสอบถามกับเจ้าหน้าที่ธนาคารโดยตรง
อัตราดอกเบี้ยสินเชื่อเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตเพื่อการศึกษา
- การคิดดอกเบี้ยของสินเชื่อนี้ ธนาคารจะแบ่งกลุ่มผู้กู้ออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มผู้กู้รายใหม่ และกลุ่มผู้กู้รายเดิม ภาคการเกษตร จะมีรายละเอียด ดังนี้
- หากเป็นผู้กู้รายใหม่ >>> อัตราดอกเบี้ยจะคิดตามร้อยละ MRR + 0 – 3 ต่อปี ซึ่งอัตราที่บวกนั้นเป็นอัตราของปัจจัยความเสี่ยงอยู่ที่ธนาคารจะพิจารณาว่าใครจะบวกเท่าไร หรือคิดไว้ก่อนได้เลยว่าถ้าดอกเบี้ยสูงสุดจะอยู่ที่ร้อยละ MRR + 3 ต่อปี หรือเท่ากับร้อยละ 9.625 ต่อปี
- หากเป็นผู้กู้รายเดิม ภาคการเกษตร >>> อัตราจะอยู่ที่ร้อยละ MRR +2.25 ต่อปี หรือเท่ากับร้อยละ 8.875 ต่อปี
ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ย MRR = 6.625% ต่อปี ทั้งนี้ หากได้ทำสัญญาไปแล้ว เกิดมีการปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยของ MRR อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของสินเชื่อก็จะมีการปรับเปลี่ยนด้วยเช่นกัน ซึ่งจะอ้างอิงจากอัตราดอกเบี้ย MRR ณ วันที่ประกาศในปัจจุบัน
ระยะเวลาการผ่อนจ่ายสินเชื่อเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตเพื่อการศึกษา
- ในการผ่อนจ่ายคืนนั้นธนาคารจะพิจารณาจากรายได้ของผู้กู้ว่าเพียงพอต่อการจ่ายเงินคืนเป็นรายเดือนหรือไม่ หรือว่าจะให้จ่ายเป็นรายปี แต่ทั้งนี้ เมื่อรวมระยะเวลาในการกู้แล้วจะต้องไม่เกิน 15 ปี
ทั้งนี้ หากเมื่อนำไปเทียบกับระยะเวลาในการผ่อนคืนนั้นก็จะให้ระยะเวลาการผ่อนจ่ายคืนได้นานเท่าไรของ กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เลยที่ให้ผ่อนจ่ายได้นานสูงสุด 15 ปี แต่ในเรื่องของอัตราดอกเบี้ยก็แตกต่างกันพอสมควรค่ะ
คุณสมบัติของผู้มีสิทธิ์ยื่นกู้สินเชื่อเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตเพื่อการศึกษา
- ผู้ยื่นขอกู้จะต้องเป็นบุคคลธรรมดาที่ประกอบอาชีพ ที่มีรายได้ที่มั่งคงและแน่นอน
- ผู้ยื่นขอกู้จะต้องมีอายุตั้งแต่ 20 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป แต่เมื่อรวมอายุกับระยะเวลาในการผ่อนแล้วจะต้องมีอายุไม่เกิน 60 ปี
- ส่วนเงื่อนไขอื่นๆก็จะต้องเป็นไปตามที่ธนาคารกำหนด
แน่นอนว่าในการยื่นขอสินเชื่อเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตเพื่อการศึกษากับธนาคารนั้นจะต้องมีหลักประกันมาค้ำประกันจึงจะสามารถขอกู้เงินได้ โดยธนาคารได้กำหนดหลักประกันไว้หลากหลายประเภท ใครสะดวกแบบไหนก็เลือกแบบนั้นได้เลย ซึ่งหลักทรัพย์ที่สามารถนำมาค้ำประกันในการขอสินเชื่อได้นั้นก็จะมี อสังหาริมทรัพย์ เช่น โฉนดที่ดิน / เงินฝาก/ สลากออมทรัพย์ / พันธบัตรรัฐบาล / บุคคลค้ำประกัน เป็นต้น โดยแต่ละหลักประกันนั้นก็จะมีเงื่อนไขที่แตกต่างกันออกไป มาดูรายละเอียดกันค่ะ
เงื่อนไขการค้ำประกัน
- กรณีที่นำอสังหาริมทรัพย์มาค้ำประกัน >>> เช่น ที่ดิน หรือที่ดินพร้อมอาคารปลูกสร้าง หรือคอนโดมิเนียม ซึ่งที่ตั้งของอสังหาริมทรัพย์นั้นจะต้องอยู่ในแหล่งชุมชน ที่มีความเจริญ มีไฟฟ้าและสาธารณูปโภคอื่นๆ ตามความจำเป็น และยังสามารถให้รถยนต์ผ่านเข้า-ออกได้อย่างสะดวก นอกจากนี้แล้ว เอกสารที่แสดงสิทธิ์ของอสังหาริมทรัพย์นั้น ผู้กู้จะต้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์เท่านั้น และอสังหาริมทรัพย์นั้นไม่ได้อยู่ในระหว่างการจำนองกับสถานบันการเงินอื่น
- กรณีที่นำเงินฝาก หรือสลากออมทรัพย์มาค้ำประกัน >>> จะให้สมุดบัญชีเงินฝากนั้นหรือสลากออมทรัพย์นั้นไว้กับธนาคาร และโอนกรรมสิทธิ์ในการเบิกถอนให้ธนาคารแต่เพียงผู้เดียว
- กรณีที่ให้บุคคลค้ำประกัน >>> จะต้องมีเงื่อนไขต่างๆ ดังนี้
- ผู้ค้ำประกันจะต้องมีอายุตั้งแต่ 25 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป แต่เมื่อรวมอายุกับระยะเวลาในการผ่อนแล้วจะต้องมีอายุไม่เกิน 60 ปี
- ผู้ค้ำประกันจะต้องมีที่อยู่อาศัยเป็นหลักแหล่ง
- ผู้ค้ำประกันจะต้องมีหน้าที่การงานที่มั่นคง จะรับราชการ หรือทำงานเอกชนก็ได้เช่นกัน
- หากผู้ค้ำประกันเป็นข้าราชการ จะต้องเป็นข้าราชการตั้งแต่ระดับ 3 ขึ้นไป
- หากผู้ค้ำประกันเป็นพนักงานเอกชนที่มีรายได้ประจำ จะต้องมีอายุการทำงานอย่างน้อย 3 ปีขึ้นไป และรายได้จะต้องเป็นไปตามธนาคารกำหนด หากรายได้ไม่เพียงพอก็สามารถใช้บุคคลค้ำประกันเพิ่มได้จนครบตามรายได้ที่ธนาคารกำหนด
มาถึงตรงนี้แล้วใครที่อยากจะสมัครและคุณว่าตัวเองมีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว ก็ยื่นการสมัครกับธนาคารได้เลย แต่เดี๋ยวก่อนนะคะ ก่อนที่จะไปยื่นเรื่องสมัครสินเชื่อคุณยังไม่รู้เลยว่าจะต้องเตรียมเอกสารอะไรบ้าง ทั้งเอกสารในส่วนของตัวเองและเอกสารของผู้ค้ำประกัน งั้นมาดูรายละเอียดกันได้เลยค่ะ
เอกสารประกอบการสมัครสินเชื่อเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตเพื่อการศึกษา
สำหรับเอกสารที่จะต้องเตรียมตัวเพื่อไปยื่นกู้กับธนาคารนั้น ธนาคารได้กำหนดแบ่งไว้เป็น 3 ส่วน ได้แก่ เอกสารของผู้กู้ เอกสารของผู้ค้ำประกัน และเอกสารของหลักประกัน มาดูกันค่ะ
เอกสารของผู้กู้ที่จะต้องใช้ในยื่นขอสินเชื่อ
- สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน หรือสำเนาบัตรข้าราชการ พร้อมเซ็นสำเนาถูกต้องมาให้เรียบร้อย
- สำเนาทะเบียนบ้านของผู้กู้ พร้อมเซ็นสำเนาถูกต้องมาให้เรียบร้อย
- กรณีที่มีการสมรสให้แนบเอกสารมาด้วย เช่น ใบสมรส/ใบหย่า/ใบมรณบัตร ของคู่สมรสของผู้กู้
- เอกสารแสดงถึงรายได้ เช่น หนังสือรับรองเงินเดือน หรือสลิปเงินเดือน ซึ่งจะต้องใช้เดือนล่าสุด หรือถ้ามีรายได้อื่นๆ ก็ให้แนบเอกสารหลักฐานนั้นมาด้วย
- ใบรับรองสภาพการเป็นนักเรียนหรือนักศึกษาของผู้กู้
- บัตรประจำตัวนักเรียนหรือนักศึกษาของผู้กู้
- ใบรับรองผลการศึกษาของผู้กู้
- ใบเสร็จรับเงินของสถานบันการศึกษา เช่น ค่าเล่าเรียนที่จ่ายในแต่ละเทอม เป็นต้น
เอกสารของผู้ค้ำประกัน (ในกรณีที่เลือกให้บุคคลค้ำประกัน)
- สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน หรือสำเนาบัตรข้าราชการ ในกรณีที่ให้ข้าราชการเป็นผู้ค้ำประกัน
- สำเนาทะเบียนบ้านของผู้ค้ำประกัน
- กรณีที่ผู้ค้ำประกันได้มีการสมรสแล้วไม่ว่าจะสถานะใดก็ให้แนบเอกสารมาด้วย เช่น ใบสมรส/ใบหย่า/ใบมรณบัตร ของคู่สมรสของผู้ค้ำประกัน
- เอกสารแสดงถึงรายได้ โดยจะแบ่งไปตามอาชีพของผู้ค้ำประกัน ดังนี้
- กรณีที่ผู้ค้ำทำงานเป็นข้าราชการ >>> ให้หนังสือรับรองเงินเดือนจากหน่วยงานของผู้ค้ำประกัน
- กรณีที่ผู้ค้ำเป็นพนักงานเอกชน >>> ใช้ได้ทั้งสลิปเงินเดือน หรือ หนังสือรับรองเงินเดือนจากองค์กรที่ทำงานอยู่ในปัจจุบัน
- สำเนารายการบัญชีธนาคารย้อนหลังอย่างน้อย 6 เดือน
เอกสารหลักประกัน (กรณีที่เลือกใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน)
- ในกรณีที่เลือกใช้อสังหาริมทรัพย์ค้ำประกัน จะต้องแนบเอกสาร ดังนี้
- สำเนาโฉนดที่ดิน หรือหนังสือที่แสดงกรรมสิทธิ์ในกรณีที่เป็นคอนโดมิเนียม
- แผนผังที่แสดงถึงที่ตั้งของโฉนด หรือ คอนโดมิเนียม
- หนังสือรับรองการประเมินราคาจากกรมที่ดิน (กรณีที่มีให้แนบมาด้วย)
- ในกรณีที่เลือกใช้เป็น เงินฝาก / พันธบัตรรัฐบาล / สลากออมทรัพย์ จะต้องแนบเอกสาร ดังนี้
- สำเนาสมุดบัญชีเงินฝาก หรือ สำเนาของพันธบัตรรัฐบาล หรือ สำเนาสลากออมทรัพย์ที่ต้องการนำมาค้ำประกัน
ช่องทางการยื่นสมัครสินเชื่อเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตเพื่อการศึกษา
- ใครที่สนใจอยากจะสมัครก็ให้เข้าไปสมัครได้โดยตรงกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ทุกสาขา ทั่วประเทศที่ใกล้บ้านคุณ หรือมีข้อสงสัยก็สามารถโทรสอบถามได้ที่ Call Center 02-555-0555 ได้ตลอด 24 ชั่วโมงเลยค่ะ
แหละทั้งหมดนี้ก็คือข้อมูลที่เกี่ยวกับสินเชื่อเพื่อการศึกษาของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หวังว่าข้อมูลนี้จะช่วยทำให้คนที่อยากเรียนต่อแต่ขาดทุนทรัพย์ได้มองเห็นโอกาสที่จะได้เรียนต่อในระดับชั้นที่ต้องการ ซึ่งการเรียนรู้นั้นบอกเลยว่าไม่ใช่เรียนภายในห้องเรียนอย่างเดียว ยังสามารถเรียนรู้ได้จากนอกห้องเรียน และที่สำคัญ ธ.ก.ส. เขาก็ไม่ได้กำหนดอายุในการกู้เพื่อมาเรียน เพราะเขามองเห็นว่าการศึกษาไม่ได้จำกัดอยู่ที่อายุที่จะสามารถเรียนได้ และสำหรับใครที่สนใจสินเชื่อประเภทอื่นๆ ก็เข้ามาอ่านบทความที่พวกเราทีมงาน iMoney ได้รวบรวมสินเชื่อไว้ครบทุกประเภท มีหลากหลายสถาบันการเงินให้ได้เลือกมาเปรียบเทียบกัน สนใจเข้ามาดูได้ที่เว็บ iMoney.in.th ได้เลย เพราะทุกปัญหาทางการเงิน ให้ iMoney เป็นตัวช่วยที่ดีให้กับเพื่อนๆทุกคนนะคะ สวัสดีค่ะ
ขอขอบคุณสำหรับข้อมูลสินเชื่อบุคคล จากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร https://www.baac.or.th