เมื่อพูดถึงเงินที่เราต้องหักส่งไปที่ประกันสังคมในแต่ละเดือน นอกจากจะเป็นกองทุนไว้สำหรับจ่ายให้เราตอนเข้าโรงพยาบาลแล้ว ประกันสังคมก็ยังรองรับการว่างงาน พิการ ชราภาพ รวมไปถึงสิทธิประกันสังคมฝากครรภ์ เงินค่าคลอดบุตรอีกด้วย แต่สำหรับสองอย่างหลัง เราไปดูหลักเกณฑ์การใช้สิทธิข้างล่างกันเลย
สำหรับคุณพ่อคุณแม่ท่านใดที่กำลังจะสร้างครอบครัวใหม่หรือเพิ่มเจ้าตัวเล็กมาสร้างความสุขในครอบครัวและมีสิทธิประกันสังคม ก็สามารถใช้สิทธิเบิกค่าตรวจ ค่าฝากครรภ์และค่าคลอดบุตรได้ ซึ่งคนที่จะได้รับเงินสมทบในส่วนนี้ต้องส่งเงินสมทบครบ 5 เดือน ภายใน 15 เดือนก่อนใช้สิทธิ ขั้นตอนก็ไม่ยุ่งยากเลย แถมจะไปใช้สิทธิที่โรงพยาบาลไหนก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นโรงพยาบาลตามสิทธิ เพียงแค่สำรองจ่ายไปก่อนแล้วนำเอกสารต่าง ๆ ไปเบิกภายหลัง
สิทธิประกันสังคมในการเบิกค่าใช้จ่ายการตรวจและค่ารับฝากครรภ์
ส่วนนี้ แต่ละครอบครัวจะได้รับสูงสุดถึง 1,000 บาท ซึ่งคนที่จะได้รับเงินสมทบในส่วนนี้ต้องส่งเงินสมทบครบ 5 เดือน ภายใน 15 เดือนก่อนใช้สิทธิอย่างที่บอกไว้ และประกันสังคมจะแบ่งจ่ายให้ตามอายุครรภ์ ดังนี้
- อายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์หรือ 3 เดือน จ่ายให้สูงสุด 500 บาท
- อายุครรภ์มากกว่า 12 สัปดาห์แต่ไม่เกิน 20 สัปดาห์หรือ 3 เดือนถึง 5 เดือน จ่ายให้สูงสุด 300 บาท
- อายุครรภ์มากกว่า 20 สัปดาห์แต่ไม่เกิน 28 สัปดาห์หรือ 5 เดือนถึง 7 เดือน จ่ายให้สูงสุด 200 บาท
** อย่าลืมเก็บใบเสร็จและใบรับรองแพทย์ไว้ จะรวมไปขอคืนครั้งเดียวก็ได้ หรือจะรวมพร้อมค่าคลอดก็ได้ ที่สำนักงานประกันสังคมทั่วประเทศที่สะดวกเลย
เอกสารที่จะนำไปขอเบิกสิทธิประกันสังคมฝากครรภ์
ส่วนเอกสารที่จะนำไปขอเบิกค่าใช้จ่ายก็มีเพียง 3-4 อย่าง ดังนี้
- แบบคำขอรับประโยชน์ทดแทน กองทุนประกันสังคม (สปส 2-01) กรอกข้อมูลให้ครบถ้วนพร้อมเซนต์ชื่อด้วย
กดดาวน์โหลดตรงนี้ได้เลยhttps://www.sso.go.th/wpr/assets/upload/files_storage/sso_th/f1ba45f9bd2072cbdb3700f830f2e309.pdf
- ใบรับรองแพทย์ หรือ สมุดบันทึกสุขภาพแม่และเด็กประจำตัวหญิงตั้งครรภ์ << ตัวนี้ต้องขอจากคุณหมอหรือจากที่โรงพยาบาลด้วยนะ
- ใบเสร็จรับเงินที่เข้ารับบริการฝากครรภ์ << ตัวนี้จะได้หลังจากจ่ายเงิน เก็บไว้ดี ๆ นะ
- ถ้าคุณพ่อเป็นคนไปจัดการก็ต้องนำทะเบียนสมรส หรือ หนังสือรับรองของผู้ประกันตนกรณีไม่มีทะเบียนสมรส (ตัวนี้กดดาวน์โหลดได้ตรงนี้) ไปด้วย แต่ถ้าคุณแม่เป็นคนจัดการก็จะต้องระบุเลขประจำตัวประชาชนของคุณพ่อในแบบคำขอฯ เพื่อป้องกันการใช้สิทธิซ้ำและง่ายต่อการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ โดยให้สิทธิเพียงคนเดียวคือคุณพ่อหรือคุณแม่เท่านั้น
สิทธิประกันสังคมในการเบิกค่าคลอดบุตร
การคลอดบุตร จะคลอดที่โรงพยาบาลใดก็ได้แต่ผู้ที่ได้รับสิทธิในส่วนนี้จะต้องส่งเงินสมทบครบ 5 เดือน ภายใน 15 เดือนก่อนคลอดโดยต้องเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 (ลูกจ้าง) หรือ 39 (ส่งเอง) เท่านั้น ส่วนผู้ประกันตนมาตรา 40 (อาชีพอิสระ) จะไม่สามารถใช้สิทธิได้ ไปดูกันว่าจะได้รับสิทธิอะไรบ้าง
- ค่าคลอดบุตรเหมาจ่าย 13,000 บาทต่อการคลอดบุตร 1 ครั้ง จะเป็นคุณพ่อหรือคุณแม่มาจัดการก็ได้ คนใดคนหนึ่ง ซึ่งรวมค่ายา ค่าห้อง ค่าคลอดบุตร ฯลฯ แล้ว
- เงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดบุตร ในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างเฉลี่ยเป็นระยะเวลา 90 วัน ในส่วนนี้จะได้เฉพาะคุณแม่เท่านั้น และจะเบิกได้ไม่เกิน 2 ครั้ง ถ้ามีลูกครั้งที่ 3 จะไม่ได้รับเงินสงเคราะห์ในส่วนนี้
ช่องทางในการรับเงิน
ช่องทางการรับเงินมีทั้งเงินสดและเช็ค โดยเงินสดจะโอนเข้าบัญชีธนาคารที่ได้ส่งไปพร้อมเอกสารขอเบิกเงิน มีให้เลือกทั้ง 11 ธนาคาร แล้วแต่ความสะดวกของคุณพ่อหรือคุณแม่ โดยมีรายชื่อธนาคารดังนี้
- ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)
- ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)
- ธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน)
- ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)
- ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน)
- ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
- ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน)
- ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย
- ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย จำกัด (มหาชน)
เอกสารที่ใช้เบิกสิทธิประกันสังคมในการเบิกค่าคลอดบุตร
เอกสารที่จะนำไปขอเบิกค่าใช้จ่ายค่าคลอดบุตร สามารถนำไปยื่นที่สำนักงานประกันสังคมใดก็ได้ทั่วประเทศ
- แบบคำขอรับประโยชน์ทดแทน กองทุนประกันสังคม (สปส 2-01) กรอกให้ครบถ้วนพร้อมลงลายมือชื่อ
https://www.sso.go.th/wpr/assets/upload/files_storage/sso_th/f1ba45f9bd2072cbdb3700f830f2e309.pdf
- สำเนาสูติบัตรบุตร 1 ชุด (ในกรณีที่มีแฝดให้แนบสำเนาสูติบัตรของคู่แฝดด้วย)
- เช่นเดียวกับการเบิกเงินค่าฝากครรภ์ ถ้าคุณพ่อเป็นคนไปจัดการก็ต้องนำทะเบียนสมรส หรือ หนังสือรับรองของผู้ประกันตนกรณีไม่มีทะเบียนสมรสไปด้วย (กดดาวน์โหลดตรงนี้เลย) โดยให้สิทธิเพียงคนเดียวคือคุณพ่อหรือคุณแม่เท่านั้น
- สำเนาหน้าแรกของบัญชีธนาคาร เห็นชื่อและเลขที่บัญชีชัดเจน ใช้ธนาคารใดก็ได้ใน 11 ธนาคารข้างต้น
จะได้รับเงินหลังจากที่เอกสารได้รับการอนุมัติประมาณ 5-7 วันโดยการโอนเข้าบัญชี หรือถ้าหากไปรับด้วยตนเองจะต้องนำบัตรประชาชนตัวจริงไปรับเงิน
นอกจากค่าฝากครรภ์ ค่าคลอดบุตร เงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดบุตรแล้ว ยังมีสิทธิที่จะได้รับเงินสงเคราะห์บุตรเหมาจ่ายเดือนละ 600 บาทต่อบุตร 1 คน โดยอายุตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 6 ปีบริบูรณ์ จำนวนคราวละไม่เกิน 3 คนอีกด้วย
เป็นยังไงบ้าง ไม่ยากเลย เอกสารไม่เยอะด้วย จำนวนเงินครอบคลุมหรือไม่ครอบคลุม ขึ้นอยู่กับโรงพยาบาลที่คุณแม่เข้ารับการตรวจ ฝากครรภ์และคลอดด้วย แต่เงินจากประกันสังคมตรงนี้ก็ช่วยแบ่งเบาไปได้เยอะเลย ถ้าชอบบทความของเรา หรือมีคนใกล้ตัวที่กำลังจะมีเจ้าตัวเล็กก็อย่าลืมส่งต่อบทความของเราไปแสดงความห่วงใยและรับรู้ข้อมูลเหล่านี้ด้วยล่ะ ^_^